อานันทวิหาร : อัญมณีล้ำค่าแห่งพม่า







อานันทวิหาร 

อัญมณีล้ำค่าแห่งพม่า 



ที่มา https://www.askideas.com/media/43/Front-View-Image-Of-The-Ananda-Temple-Myanmar.jpg

          อานันทวิหาร ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ที่งดงามมากที่สุดในพุกาม และได้รับยกย่องว่าเป็น “เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม” เป็นวัดที่สร้างในสมัย พระเจ้าจันสิตตา (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1672-1655) กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พุกาม พระองค์เคยเป็นทหารคู่พระทัยของพระเจ้าอโนรธามหาราช อีกทั้งได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง

                   มีเรื่องเล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง อินเดียซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาถูกกองทัพชาวมุสลิมเข้าโจมตี ทำลายพระพุทธศาสนา พระภิกษุอินเดียบางส่วนหนีภัยเข้ามายังพุกามประเทศ ในจำนวนนั้นมีพระภิกษุ 8 รูปที่พร้อมด้วยจริยาวัตรงดงาม เดิมอาศัยอยู่ที่วิหาร “นันทมูล” บริเวณเทือกเขาหิมาลัย จึงพรรณนาถึง นันทมูลวิหารอยู่บ่อยๆ พระเจ้าจันสิตตาทรงทราบเรื่องจึงเกิดความเลื่อมใส และเกิดแรงบันดาลใจให้พระองค์ดำริจะสร้างวิหารนี้ขึ้น จึงทรงขอให้พระภิกษุเหล่านั้นร่างภาพวิหารนันทมูลขึ้นมาเป็นแบบ แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารตามแบบนั้นในปี พ.ศ. 1634 ขนานนามว่า “อานันทวิหาร” ซึ่งคำว่า “อนันต์” มีความหมายว่า วิหารนี้จะคงอยู่คู่พุกามตลอดไป


ที่มาhttps://ssl.c.photoshelter.com/img-get/I0000ZytkGq5EKq8/s/900/900/Bagan-Ananda-pagoda-1-of-1.jpg

                       อานันทวิหารได้ชื่อว่างดงามที่สุดเพราะเต็มไปด้วยเชิงชั้นทางศิลปะครบทุกแขนง เป็นวิหารที่มีอิทธิพลของอินเดียอยู่มาก วิหารสร้างในรูปแบบทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 175 ฟุต สูงจากฐานชั้นล่างถึงยอดฉัตร 172 ฟุต ตัววิหารที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขเด็จยื่นออกไปเท่ากันทั้ง 4 ทิศ เช่นเดียวกับผังกางเขนกรีก หลังคายกระดับทีละชั้น จนถึงจุดกึ่งกลางจึงประดิษฐ์ฐานส่วนยอดซึ่งเป็นรูปเจดีย์เอาไว้ ซึ่งสัดส่วนของเจดีย์นั้นงดงามได้สัดส่วนไม่มีที่ติ เมื่อมองจากภายนอกแล้วคล้ายมี 2 ชั้น


ที่มาhttps://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ef/Plan_of_Ananda_Temple_Myanmar.jpg


ที่มา https://ak5.picdn.net/shutterstock/videos/4804325/thumb/1.jpg?i10c=img.resize(height:160)


ที่มาhttp://bagandaytours.com/wp-content/uploads/2016/01/Ananda-Temple-6.jpg


                     เทคนิคการก่อสร้างนั้นสุดยอดด้วยการสร้างที่ใช้วิธีถ่ายเทน้ำหนัก โดยตรงกลางวิหารสร้างเป็นแกนสี่เหลี่ยมทึบขึ้นไปรับยอดวิหาร และสร้างซุ้มประตูโดยเรียงอิฐโค้งแบบ Arch ซึ่งถือเป็นแบบของพุทธศิลป์ของพม่าในยุคหลัง และในกาลต่อมา สถาปัตยกรรมและศิลปะแบบพุกามก็แผ่อิทธิพลมาถึงอาณาจักรสุโขทัย ดร. สันติ เล็กสุขุม ผู้เชี่ยวชาญศิลปะพุกามเคยกล่าวเรื่องแนวคิดการก่อสร้างของพม่าเอาไว้ว่า

              “พม่าเป็นเยี่ยมในเรื่องของการก่อสร้างขนาดใหญ่ แกนทึบสี่เหลี่ยมเป็นระบบเสากลางรับน้ำหนักของหลังคาวิหาร เพราะฉะนั้นภายในวิหารจึงสามารถที่จะขยายกว้าง มีระเบียง เจาะเป็นช่องเข้าสู่แกนกลางได้ทั้งสี่ช่องทางเดิน แต่ละช่องคูหามีพระพุทธรูปยืนอยู่ เพราะโครงสร้างเป็นอย่างนั้นจึงเจาะทั้งสี่ช่องได้ แต่ถ้าเป็นโครงสร้างของพวกขอม เขาใช้ผนังรับน้ำหนัก ซึ่งต่างจากพม่าที่ใช้แกนกลางรับน้ำหนัก ”

                        ต่างจากสถาปัตยกรรมขอมใช้หินเป็นส่วนใหญ่ และได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศในการใช้หินก่อสร้าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมพม่าใช้อิฐเป็นส่วนใหญ่ และได้รับการยอมรับว่ามีความก้าวหน้าในการก่อสร้างด้วยอิฐเช่นกัน อิฐพม่าที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะเรียง ช่างจะขัดอิฐให้เรียบ พอนำมาประกบกันจึงแทบจะไม่เห็นรอยต่อ และพุทธศิลป์แบบนี้ต่อมาได้ส่งอิทธิพลเข้าถึงดินแดนลานนาของไทย แต่ย่อส่วนลงมา เช่น วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น 
                      ภายในวิหารมีลักษณะเป็นอุโมงค์เดินถึงกันโดยรอบ แต่ละด้านมีซุ้มคูหา เป็นที่ประทับของพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักจากไม้ ขนาดสูง 31 ฟุต ตามคติความเชื่อของชาวพม่าที่ว่า โลกของเรามีพระพุทธเจ้ามาแล้ว 3 พระองค์ แล้วเพิ่มพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่สี พระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศแต่ละองค์จะวางพระหัตถ์แตกต่างกัน และไม่เหมือนกับพระปางใดๆของไทย มีชื่อเรียกแทนพระพุทธเจ้า คือ


                                           ที่มา https://www.myanmartour.com/userfiles/image/Ananda-Temple-Bagan-2.jpg

ทิศเหนือ พระกกุสันโธพุทธเจ้า 

ทิศตะวันออก พระโกนาคมน์พุทธเจ้า

ทิศใต้ พระกัสสปพุทธเจ้า

ทิศตะวันตก พระโคตมพุทธเจ้า


พระกกุสันโธพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปองค์ดั้งเดิมของอานันทวิหาร ถือเป็นศิลปะพุกามยุคแรกที่นิยมแกะสลักให้จีวรแนบพระวรกายขององค์พระ ปลาจีวรหยักเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ ลักษณะการวางพระหัตถ์ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาของไทย 

  

ที่มา http://www.uncledeng.com/wp-content/uploads/2016/05/134-1.jpg

                                 ความงามของอานันทวิหารแบบเต็มองค์ เมื่อมองจากด้านนอก ซุ้มประตูและหน้าต่างของวิหาร เป็นตัวอย่างที่ดีและสมบูรณ์ของซุ้มศิลปะพุกาม ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกว่า “เคล็ก” (Clec) หมายถึงซุ้มก่ออิฐวงโค้ง ประดับแถวครีบสูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปะพุกาม ซึ่งส่งผลต่อศิลปะของพม่าทุกสมัย รวมถึงแพร่หลายในอาณาจักรสุโขทัย ที่เรียกว่า “ซุ้มฝักเพกา” 


ที่มา https://2g.pantip.com/cafe/gallery/topic/G8281369/G8281369-4.jpg

นอกจากนี้ยังมีทางเดินสู่มณฑปหลังหนึ่ง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมในสมัยพุกามประดับอยู่โดนรอบ ทำให้ทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพุกามโบราณ



                                อานันทวิหาร เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ได้รับยกย่องว่าเป็น “เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม” สร้างในสมัยพระเจ้าจันสิตตา กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์พุกาม คำว่า “อานันทวิหาร” มีความหมายคือ วิหารนี้จะคงอยู่คู่พุกามตลอดไป 
                      อานันทวิหารเต็มไปด้วยเชิงชั้นทางศิลปะครบทุกแขนงและมีอิทธิพลของอินเดียอยู่มาก จุดกึ่งกลางประดิษฐ์ฐานส่วนยอดซึ่งเป็นรูปเจดีย์เอาไว้ เมื่อมองจากภายนอกแล้วคล้ายมี 2 ชั้น ส่วนเทคนิคการก่อสร้างใช้วิธีถ่ายเทน้ำหนักและสร้างซุ้มประตูโดยเรียงอิฐโค้งแบบ Arch ที่ด้านนอกซุ้มประตูและหน้าต่างของวิหาร เป็นซุ้มศิลปะพุกาม เรียกว่า “เคล็ก” ซึ่งเทคนิคนี้ได้ส่งอิทธิพลมาถึงภาคเหนือของไทยด้วย
                                 ภายในวิหารเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปประทับยืนแกะสลักจากไม้ทั้ง 4 ทิศและมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมในสมัยพุกามประดับอยู่โดนรอบวิหาร


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง :

สุภาวรรณ. (2553). อานันทวิหาร. สืบค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2560, จาก  
                   http://oknation.nationtv.tv/blog/supawan/2010/07/19/entry-5


อานันทวิหาร. (2557). อานันทวิหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560, จาก                   https://www.thaifly.com/index.php?route=news/news&news_id=1260

ความคิดเห็น

  1. BetMGM Casino Bonus Code - $50 FREE + $1000 Match
    BetMGM Casino Bonus Code: No code required - $50 FREE 강원도 출장샵 + $1000 동두천 출장샵 Match. Code: No 강릉 출장마사지 code required - Up to $1000 순천 출장샵 Casino bonus. Casino bonus code 정읍 출장안마

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น